123 Change!!! - หุ่นพังเพราะนับแคล o_O


บทความนี้เหมาะกับผู้ลดความอ้วนฟิตหุ่นเบื้องต้น
อาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีความชำนาญในการดูแลรูปร่างระดับต้องลงรายละเอียด

หลายๆคนมักจะถามใน fanpage 123change ว่าผมกินโปรตีนวันละกี่กรัม คาร์บวันละกี่กรัม ใช้พลังงานกี่แคลอรี่
ผมจะบอกประจำว่าผมไม่เคยนับแคลอรี่เลย ไม่ได้ชั่งตวงว่าโปรตีนกี่กรัม คาร์โบไฮเดรทกี่กรัม
ไม่เคยเอาเครื่องมืออะไรมาวัดด้วยว่าแต่ละวันใช้พลังงานไปกี่แคลอรี่
ไม่เคยต้องมา Tracking การกินหรือการก้าวเดิน

ถึงแม้ในเชิงทฤษฎีที่ว่าเราจะผอมได้เมื่อพลังงานที่รับเข้าต้องน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ไป จะถูกต้อง
แต่พอคนนำไปใช้จริงมักนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เพราะร่างกายคนไม่ใช้สูตรคณิตศาสตร์ แต่มันมีกลไกที่สับซ้อนกว่านั้น
และโดยส่วนตัวคิดว่าการนับแคลอรี่จะนำไปสู่ความล้มเหลวในการลดความอ้วนฟิตหุ่น
เนื่องจากเหตุผลต่อไปนี้ครับ

1. ตารางแคลอรี่อาหารที่มีให้เราเอาไปใช้ทั่วไป
เรารู้ได้ยังไงว่าปริมาณวัตถุดิบที่นักคำนวณใช้มีปริมาณมากน้อยขนาดไหน
และมันเท่ากับที่อาหารที่เรากำลังจะกินไปรึเปล่า
อย่างถ้าอาหารที่แม่ค้าทำมา แม่ค้าหนักมือใส่น้ำตาลลงไปมากหน่อย น้ำตาลช้อนนึงก็ทำให้แคลอรี่เพิ่มขึ้นไปอีก
หรือแม้กระทั่งบอกลูกชิ้นหมู 1 ลูกกี่แคลอรี่ เค้ารู้ได้ไงว่าร้านที่เราซื้อใส่แป้งในหมูมั้ย หมูติดมันรึเปล่า
ดังนั้นค่าแคลอรี่ในอาหารที่ได้จากตารางแคลอรี่อาหาร คือค่าประมาณการที่มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง

2. ตารางแคลอรี่ออกกำลังกายที่มีให้เราเอาไปใช้ทั่วไป
เรารู้ได้ยังไงว่าค่าเฉลี่ยที่เค้าเอามาใช้มาจากคนที่มีพื้นฐานสุขภาพ อายุ น้ำหนัก อัตราการเผาผลาญ เป็นยังไงบ้าง
ขนาดคนเราน้ำหนักตัวเท่ากัน แต่มวลกล้ามเนื้อกับมวลไขมันต่างกัน ก็มีอัตราการเผาผลาญได้ต่างกัน
แม้แต่บนเครื่องวิ่งที่มีการวัดหน่วยแคลอรี่ให้ ผมก็ไม่ค่อยให้ความสนใจ
เพราะค่าที่ได้เกิดจากการเฉลี่ยของคนต่างชาติ ซึ่งมีกายภาพที่แตกต่างจากผมแน่นอน
ซึ่งค่าที่ได้มาก็เป็นค่าที่มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงเช่นกัน
ดังนั้นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากกว่าคือช่วงเวลาที่ต่อเนื่องในการออกกำลังกาย

จะเห็นว่าจากข้อ 1 และข้อ 2 ทุกค่าการวัดมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงทั้งคู่
แล้วเราจะเสียเวลาจดวัดไปกับสิ่งที่มีโอกาสผิดพลาดสูงไปเพื่ออะไร
และสมมติเครื่องวัดการใช้พลังงานบอกว่าทั้งวันเราใช้พลังงานน้อยไปแต่ใกล้จะเข้านอนแล้ว
อยากรู้ครับว่ามีสักกี่คนที่จะลุกขึ้นมากระโดดตบก่อนเข้านอนเพื่อใช้พลังงานตามกำหนด

3. ผมโชว์ภาพการคำนวน BMI ไปแล้วในบทความนึงใน fanpage เป็นภาพนี้

นี่คือค่าคำนวนแบบสากล เครื่องนี้วางไว้ในโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรได้รับความเชื่อมั่นทางด้านสุขภาพสูงสุด
ผลที่ได้ปรากฏว่าดัชนีชี้วัดว่าผมเป็นคนปกติระยะสุดท้ายที่จะกลายเป็นคนท้วม
ลองเดาดูสิครับว่าถ้าผมเอาค่าที่ผมชั่งวัดทั้งส่วนสูง น้ำหนักและ BMI ไปให้หมอดูโดยไม่เห็นรูปร่างผมเลย
หมอจะแนะนำผมว่ายังไง “คุณควรต้องคุมอาหารและออกกำลังกายนะ” ???
คือถ้าผมคุมอาหารและออกกำลังกายมากกว่านี้ ผมว่าผมคงต้องเป็นนักกีฬาอาชีพแล้วล่ะครับ
แล้วลองดูจากรูปร่างผม ณ วันนั้นดูครับ แล้วบอกผมทีว่าอย่างนี้เราเรียกว่าท้วมกันรึเปล่า
มันทำให้ผมมีคำถามนะครับว่า ดัชนีชี้วัดทั้งหลายนั้น เราเชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหน
เราควรเชื่อค่าชี้วัดเหล่านี้หรือเชื่อภาพที่เราเห็นตอนส่องกระจกมากกว่ากัน
คนนะครับไม่ใช่หมู ที่จะมาชั่งวัดกันเป็นกิโลกรัม

4. เมื่อคนสนใจอยู่ที่เรื่องการนับแคลอรี่ ให้กินไม่เกินแคลอรี่ที่คำนวนมาได้
ออกกำลังกายให้มากกว่าที่คำนวนมาได้ เพื่อให้ตรงหลักการที่ว่า
แคลที่ได้รับต้องน้อยกว่าแคลที่ใช้ไป (ซึ่งก็ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด)
เพราะถึงแม้ว่าแคลอรี่ที่เท่ากันแต่คุณภาพสารอาหารที่ต่างกัน ผลลัพธ์จะต่างกัน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบฟ้ากับเหวนะครับจะได้เข้าใจได้
สมมติเรากินน้ำหวาน 100 kcal กับกินข้าวไรซ์เบอรี่ 100 kcal
น้ำหวานเมื่อกินเข้าไป ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นท่วมท้นทันที เพราะเป็นน้ำตาลดูดซึมเร็วไม่ต้องผ่านการย่อย
ร่างกายจะเก็บน้ำตาลไปเป็นพลังงานโดยสะสมที่ตับ เมื่อสะสมเกินพิกัดก็สะสมเป็นไขมัน กลายเป็นไขมันช่องท้อง
สะสมเกินอีกกลายเป็นไขมันใต้ผิวหนัง

พวกคาร์บแย่ๆ เช่นน้ำหวาน แป้งขาว ข้าวขาว เกิดกลไกนี้
ส่วนข้าวไรซ์เบอรี่ เมื่อร่างกายกินไปจะต้องเอาไปย่อย โดยมีไฟเบอร์เป็นตัวขัดขวางการย่อยและการดูดซึม
ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อยๆเพิ่ม เมื่อมันค่อยๆเพิ่ม ก็จะค่อยๆนำไปใช้ระหว่างวัน ไม่เหลือให้ไปสะสม
ผมจึงให้จำง่ายๆว่า พวกคาร์บดีๆ จึงเป็นคาร์บที่มีกากใยเยอะๆ
ดังนั้นคนที่คิดว่า อ๋อ จำกัดแคลอรี่ งั้นไม่กินข้าวไปกินขนมแทนก็ได้สิ พวกนี้ถึงเป็นการคุมอาหารที่ผิดไงครับ
จริงๆ หลักการเลือกคุณภาพของสารอาหารก่อนแทนที่จะคำนึงถึงปริมาณแคลอรี่มีศัพท์เฉพาะที่ใช้กันว่า “Good Calories”
หรือให้เข้าใจง่ายๆ คือ จงเลือกสิ่งที่มีคุณภาพภายใต้แคลอรี่ที่เท่ากัน

5. อีกสาเหตุเป็นเรื่องจิตวิทยาที่อาจไม่ทันสังเกตเห็นกันเพราะไม่เคยมีใครพูดถึงเลย
คือเมื่อเราสนใจจำกัดจำนวนแคลอรี่ เราจะกินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะกลัวว่าแคลอรี่จะเกินกำหนด
และโดยส่วนมากที่ทำกันจะเกิดภาวะกลัวการกิน อะไรที่ไม่รู้ก็เลือกที่จะไม่กินเลย
กินน้อยจนร่างกายนึกว่าเรากำลังจะเข้าภาวะจำศีลต้องรีบสะสมไขมันเก็บไว้กลัวเราตาย
และภายใต้แคลอรี่ที่น้อยลง ทำให้สารอาหารที่ควรได้รับก็จะน้อยลง ส่งผลไปภาวะขาดสารอาหาร

และเมื่อเรามีเวลาที่จำกัด ก็มักเลือกออกกำลังกายให้หนักที่สุด
วิธีไหนที่ว่าเผาผลาญแคลอรี่ได้เยอะสุด ก็จะไปเลือกวิธีนั้น
บางคนเริ่มใหม่ๆ ก็ชอบไปเล่นอะไรที่ advance หักโหมและมักจะเน้นไปที่การคาร์ดิโอเป็นหลัก
ส่วนการเวทเอาไว้ก่อนเพราะมันเผาผลาญได้น้อยกว่า

บางครั้งเล่นจนหนักจนเหนื่อย เหนื่อยจนแค่คิดว่าจะไปออกกำลังกายก็เหนื่อยหมดแรงจนไม่อยากไปแล้ว
และเวลาที่เหนื่อยมากๆ ภายใต้การกินที่น้อย ร่างกายจะดึงเอาพลังงานจากกล้ามเนื้อมาใช้
ทำให้ไขมันไม่ลดลงไปสักที กล้ามเนื้อก็ด้อยประสิทธิภาพลง ตัวช่วยเผาผลาญก็ลดลง
ส่งผลให้เราก็จะอ้วนอยู่อย่างนั้นแหละ

สักพักก็เริ่มท้อแท้ หมดกำลังใจ ลองถามตัวเองดูครับว่า
เราล้มเลิกภารกิจพิชิตหุ่นเฟิร์มมานับครั้งไม่ถ้วนเพราะเหตุการณ์แบบนี้มากี่ครั้งแล้ว

ดังนั้นสำหรับตัวผมแล้ว การนับแคลอรี่เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในภารกิจพิชิตหุ่นเฟิร์มครับ
ส่วนเวลาถามปริมาณอาหารที่ควรกิน มันก็แล้วแต่คน แล้วแต่กิจกรรมที่ทำแต่ละวัน ซึ่งแตกต่างกันไป
แต่ทุกคนสามารถยึดหลักง่ายๆ เหมือนกันตามนี้นะครับ

1. เลือก Good Calories คุณภาพมาก่อน
2. กินให้อิ่มในแต่ละมื้อ อิ่มแล้วจบ
3. กินแต่ละมื้อให้เป็นเวลา ตื่นมาเมื่อไหร่นับมื้อแรกตอนนั้น แล้วอีก 3-4 ชม.เราจะหิวในมื้อถัดไปเอง
4. เน้นโปรตีนในทุกมื้อ
5. มื้อเช้า เที่ยง ก่อนออกกำลังกายต้องกินคาร์โบไฮเดรตเพื่อเอาพลังงานไปใช้ มื้อเย็นลด(ไม่ใช่งด)คาร์โบไฮเดรทลงได้
6. ออกกำลังกายทั้งเวทเทรนนิ่งให้ครบทุกส่วนและเบิร์นประจำ ไม่ต้องหักโหมแต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ

ย้ำอีกครั้ง ทุกวันนี้ผมไม่มีการชั่งตวงว่าต้องกินอะไรเท่าไหร่นะครับ
ใช้ชีวิตให้เป็นธรรมชาติ ทำให้เป็นไลฟ์สไตล์ หุ่นดีได้ไม่ยากครับ

ใครที่ยังกังวลให้ลองไปทำดูสัก 1 อาทิตย์ครับ
แล้วจะเข้าใจเองว่าทำไมเลือก good calories แล้วไม่ต้องห่วงแคลอรี่จะเกิน

IG devi1cupid
Fanpage 123change

CONVERSATION

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น